พลศึกษา เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ได้รับการถ่ายทอดมานานจากคนตะวันตก ที่เน้นร่างกายเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าจิตใจ ที่มีความแข็งแรง ความเร็ว ความอ่อนตัว ความคล่องแคล่ว ความทนทาน และระบบไหลเวียนโลหิต จนมีหลักการที่พูดกันว่า A SOUND MIND IN A SOUND BODY หรือ จิตใจที่แข็งแกร่งย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง แต่ในความเป็นจริง คนตะวันออก พูดถึงพลศึกษามานานในรูปแบบทางจิตใจ นั่นคือ พละ 5 ธรรมที่เป็นพลัง มีสัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา แต่ไม่ได้รับการตอบรับมากนัก จนมีหลักการที่ว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว จึงเห็นได้ว่า พลศึกษาต้องเกี่ยวโยงทั้งสองด้านคือ ร่างกายและจิตใจ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ และทั้งคู่ต้องทำงานไปพร้อมๆกัน และที่สำคัญต้องบังคับร่างกายให้ได้ตามที่ต้องการและควบคุมจิตใจตนเองให้นิ่ง
พลศึกษา ประกอบด้วย สรีรวิทยาการออกกำลังกาย,วิทยาศาสตร์การกีฬา,จิตวิทยาการกีฬา,ชีวกลศาสตร์และกีฬาเวชศาสตร์ ซึ่งเนื้อหาเหล่านั้นจัดเป็นสาขาวิชาหนึ่งหรืออาจเป็นภาควิชาหนึ่งหรือคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัย
พลศึกษาในเชิงร่างกาย
พลศึกษาในเชิงร่างกาย ก็คือการทำให้ร่างกายมีพลังที่เป็นรูปธรรม ประกอบด้วย
1 ความแข็งแรง เช่น ข้อมือ สามารถยกสิ่งของหนักได้
2 ความเร็ว เช่น การวิ่งระยะสั้น 50 เมตร ในเวลาที่กำหนด
3 ความอ่อนตัว เช่น การก้มตัว เข่าตึง ไปหยิบของบนพื้น
4 ความคล่องแคล่ว เช่น การโยกลำตัวหลบหลีกสิ่งกีดขวาง
5 ความทนทาน เช่น การเดินเร็ว หรือวิ่งระยะทางไกล เป็นเวลานาน
6 ระบบไหลเวียนโลหิต เช่น การที่เหงื่อออกจากร่างกาย และการจับชีพจรตามเกณฑ์ที่กำหนด
พลศึกษาในเชิงจิตใจ
พลศึกษาในเชิงจิตใจ ก็คือ พละ 5 แปลว่าธรรมอันเป็นกำลัง ที่สถิตย์ในจิตใจคน มีพลังเป็นนามธรรม ประกอบด้วย
1 ศรัทธา - ความเชื่อ คือเชื่อว่าจิตของคนมีพลังแฝงทุกขณะ
2 วิริยะ - ความเพียร คือคนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจฝึกฝน ฝึกซ้อม ให้สำเร็จได้
3 สติ - ความระลึกได้ คือการรู้ตัวทุกขณะ ว่ากำลังเคลื่อนไหว
4 สมาธิ - ความตั้งจิตมั่น คือ การนำจิตไปจดจ่อกับการเคลื่อนไหวในขณะนั้น
5 ปัญญา - ความรู้ชัดแจ้ง คือ น้อมนำความคิด วิธีคิดว่าขณะที่เคลื่อนไหว ต้องแก้ปัญหาขณะนั้นและคิดการณ์ล่วงหน้าเสมอ
พลศึกษาในเชิงการศึกษา
พลศึกษาในเชิงการศึกษา เป็นส่วนขององค์ประกอบ 4 ประการ ของการศึกษา ตามหลักสูตร 2504 ประกอบด้วย 1 พุทธิศึกษา - การพัฒนาด้านสติปัญญา 2 จริยศึกษา - การพัฒนาด้านคุณธรรม 3 หัตถศึกษา - การพัฒนาทักษะ 4 พลศึกษา - การพัฒนาด้านสุขภาพกายใจ
พลศึกษาในเชิงความยอดเยี่ยม
“ยอดเยี่ยม” แปลความตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นคำวิเศษณ์ ว่า ดีที่สุด, เลิศที่สุด ดังนั้นส่วนหนึ่งจากชื่อหัวข้อเรื่องคือ พลศึกษาเป็นคำที่ยอดเยี่ยม ผู้เขียนกำลังจะให้วิธีคิดและข้อคิดที่จะให้ทุกคนเข้าใจพลศึกษาในมุมมองของคำว่า “ยอดเยี่ยม” ซึ่งเป็นนามธรรมอันทรงคุณค่าแขนงหนึ่งที่ไม่มีการเปรียบเทียบกับแขนงอื่น
ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ แปลคำ “ พลศึกษา ” ว่า การศึกษาที่จะนำไปสู่ความเจริญงอกงามและพัฒนาการทางร่างกาย จากคำแปลนี้ นักวิชาการทางพลศึกษาทั้งต่างประเทศและในประเทศต่างให้คำจำกัดความของพลศึกษา ด้วยอรรถรสทางภาษาหลายรูปแบบ หลายลีลา แต่เมื่อตีความกันแล้ว มีความหมายที่คล้ายคลึงกัน เข้าใจกันว่าพลศึกษาเป็นอย่างไร คืออะไร หมายถึงอะไร เพียงแต่นักวิชาการทางพลศึกษาบางคนอาจมีรายละเอียดในการใช้คำมากกว่าบางคน ทั้งหมดทั้งมวล อ่านแล้วเข้าใจและให้ความหมายไปในทิศทางเดียวกันนั่นเอง ในฐานะผู้เขียนเป็นครูพลศึกษาคนหนึ่ง มีประสบการณ์สอนมา ๓๒ ปี ขอให้แนวทางคำว่า
พลศึกษา เพื่อให้มองเห็นเนื้อในใจความของคำนี้อย่างถ่องแท้ในความหมาย ๓ ระดับจากคำว่า “คือ” ให้ภาษาที่สั้น กระชับและกว้างๆ จากคำว่า “เป็น” ให้ภาษาพื้นฐานที่เข้าใจได้และแยกย่อยอย่างง่ายๆ และ“หมายถึง” ให้ภาษาที่ขยายความ ที่แตกคำออก และเพิ่มคำที่สำคัญ ดังนี้
พลศึกษา คือ ศาสตร์และศิลป์ในการเรียนรู้ร่างกายและจิตใจ
พลศึกษา เป็น ชื่อสาระการเรียนรู้แขนงหนึ่งที่บังคับเรียนตามหลักสูตร เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายและจิตใจอย่างถูกวิธี หรือหากจะเพิ่มรายละเอียดมากขึ้น ขอขยายความว่า
พลศึกษา หมายถึง สาระการเรียนรู้แขนงหนึ่ง ที่ว่าด้วยการเรียนรู้เรื่องการเคลื่อนไหวที่ต้องบังคับร่างกายและควบคุมจิตใจ เพื่อก่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีความรู้เกี่ยวกับการออกกำลังกาย และใช้กีฬาเป็นสื่อในการเรียนรู้
แล้วถามต่อว่า เรียนพลศึกษาไปทำไม ก็จะต้องมีการสร้างวิธีคิดให้กับผู้เรียนเช่นกันว่าทุกเรื่องที่เรียนรู้มีเป้าหมายปลายทางทั้งสิ้น ดังนี้
เรียนพลศึกษา เพื่อ ให้ร่างกายและจิตใจมีการเคลื่อนไหวที่ถูกวิธีและถูกต้อง จนก่อเกิดความแข็งแรงในร่างกายและความแข็งแกร่งในจิตใจ เมื่อเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ จะมีสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจที่ดีต่อไป
จากนัยสำคัญของพลศึกษาในแง่ของคำว่า คือ,เป็น,หมายถึงและเพื่อ นั้น ย่อมแสดงถึงคุณค่ามหาศาลของคำ คำนี้ และเมื่อจะถอดรหัสใจความของเนื้อในที่มีหลายคำที่ทรงคุณค่า และสำคัญ ไม่ว่า ศาสตร์, ศิลป์, เคลื่อนไหว, บังคับร่างกาย, ควบคุมจิตใจ, ถูกวิธี, มีประสิทธิภาพ, ออกกำลังกาย, กีฬาเป็นสื่อ, ความแข็งแรงในร่างกาย, ความแข็งแกร่งในจิตใจ และสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ ยิ่งทำให้เห็นว่า คำนามธรรมคำหนึ่งที่ชื่อว่า “พลศึกษา” นั้น ทำไมจึงเป็นสาระการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยมได้ เพียงแต่จะไม่ขอกล่าวรายละเอียดในที่นี้ แต่จะให้แนวคิด, ข้อคิด และวิธีคิด
อีกแง่มุมหนึ่งที่นักวิชาการทางพลศึกษาหลายคนมองข้ามไป กล่าวคือ จากการที่การศึกษาส่วนใหญ่ เรียนรู้มาจากองค์ความรู้จากตะวันตกเป็นหลัก ซึ่งก็คือ “ความรู้ทางโลก” ทำให้องค์ความรู้ทางตะวันออกอีกแง่มุมหนึ่งลืมเลือนไปหรือให้ความสำคัญน้อยกว่า ซึ่งก็คือ “ความรู้ทางธรรม” นั่นคือ วิธีคิดทางธรรม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม แต่สามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมอยู่ตลอดเวลา และอยู่ใกล้ตัวของคนมากที่สุด
ในอดีตชาวพลศึกษาหลายคนเคยได้รับการปลูกฝังจากครูบาอาจารย์ และรุ่นพี่ ให้พูดคำว่า พลศึกษา ให้เต็มคำ ไม่ใช่พูดว่า “พละ” ซึ่งความคิดขณะนั้น จะหมายถึงว่าใช้เฉพาะกำลัง ไม่ออกแนวใช้ความรู้ทางสมองมากนักหรือไม่ออกแนววิชาการนั่นเอง แต่เกรงว่าคนอื่นจะเข้าใจผิดว่าชาวพลศึกษาใช้แต่กำลังมากกว่าใช้สมอง เมื่อวันเวลาผ่านไป ประสบการณ์และการเรียนรู้มากขึ้น ผู้เขียนเริ่มเข้าใจว่า พูดคำว่า “พละ” ก็ได้ แถมมีนัยสำคัญทางธรรมะประกอบอยู่เสมอ ให้ระลึกเสมอว่า พละเป็นเรื่องที่มีความรู้ทางโลกและทางธรรมอยู่รวมกัน อยู่ร่วมกัน และอยู่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอดเวลา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น จากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พ.ศ. ๒๕๒๗ กล่าวว่า
พละ ๕ คือธรรมอันเป็นกำลัง เป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่อริยมรรค ประกอบด้วย ๑ ศรัทธา คือ การเชื่อ เป็น ความเชื่อในสิ่งที่มีเหตุผล ไม่ตื่นตูมไปกับลักษณะอาการภายนอก ๒ วิริยะ คือ ความเพียร เป็น การประพฤติความดี ทำกิจไม่ย่อท้อ ๓ สติ คือ การนึกได้ เป็น ไม่เผลอ คุมใจไว้ได้กับกิจที่ทำ ๔ สมาธิ คือ มีใจตั้งมั่น เป็น การทำใจให้สงบนิ่ง และ ๕ ปัญญา คือ การเข้าใจที่ชัดเจน เป็น การหยั่งรู้ แยกแยะได้ในเหตุผล ที่ถูกและผิด
เพื่อให้เป็นรูปธรรม จะขอยกตัวอย่างกีฬา เปตอง ดังนี้
๑ ศรัทธา ต้องเข้าใจและยอมรับว่า เปตองเป็นกีฬาอีกชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าและประโยชน์ หรือขณะอารมณ์ไม่ดี ต้องดึงเอา ปัญญา มาจับอาการให้ทัน
๒ วิริยะ หมั่นฝึกซ้อม ฝึกฝน อย่างจริงจังตั้งใจและมั่นคง มี ปัญญา ควบคุมตลอดเวลาว่าที่ปฏิบัติมานั้นดีแล้ว
๓ สติ ในการปฏิบัติหรือเล่นหรือแข่งขัน จิตใจต้องจดจ่อไปที่การเคลื่อนไหวในขณะนั้น เวลานั้น อย่าเผลอคิดเร่องอื่นให้วุ่นวาย และมี ปัญญามากำกับอีกเช่นกัน
๔ สมาธิ เป็นการเพิ่มความเข้มบนความมุ่งมั่นมากกว่าสติ แต่นำปัญญามาควบคุมเช่นเดิม
๕ ปัญญา ต้องใช้การฟัง คิด ถาม และเขียน ให้เป็นนิสัย สะสมให้มาก เพื่อเป็นต้นทุนในการสร้างกำลังใจ ความแข็งแกร่งทางจิตและต่อเติมความคิดอย่างชาญฉลาด
ดังนั้นขอขยายความว่า พละ ๕ กับนักกีฬาเปตองหรือคนเล่นเปตอง เมื่อเรียนรู้ทักษะกลไกทางการเคลื่อนไหวของเปตองแล้ว ที่เรียกว่า ความรู้ทางโลก ที่มีองค์ประกอบของการใช้ร่างกายที่มีกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท ข้อต่อต่างๆ มาผสมผสานกับส่วนสมองในการคิดหาวิธีการฝึกฝนให้มีทักษะที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันนั้น ความรู้ทางธรรมคือ พละ ๕ ก็กำลังดำเนินการอยู่ภายในจิตใจ ควบคุมการฝึกฝนทักษะพร้อมกันตลอดเวลา สามารถเห็นเป็นรูปธรรม เมื่อแสดงออกมาทางอากัปกิริยาท่าทาง สีหน้า วาจา และอารมณ์ จึงเห็นว่าความรู้ทางโลกเสมือนเป็นศาสตร์ ที่ต้องเก็บเกี่ยวสาระความรู้มาคั้นกลั่นกรองสู่สมอง นำออกไปใช้ และความรู้ทางธรรมเสมือนเป็นศิลป์ ที่ต้องรู้จักบุคลิกตน รู้จักวางตน ใช้ความรู้ให้เหมาะสมกับสถานที่และช่วงเวลาในขณะนั้น ตามข้อตกลง และระเบียบที่กำหนด
พละ ๕ ที่นำไปใช้ในกีฬาเปตองเกิดขึ้นทุกขณะที่มีการอยู่นิ่ง หรือเคลื่อนไหว และเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง พละ ๕ หรือไล่เลี่ยกันเป็นทอดๆอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ประสบการณ์การสอนพลศึกษาทำให้เกิดการคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ คำว่า “พลศึกษา” มาเป็นข้อคิดก็ได้ คำคมก็ดี ที่ส่งเสริมให้ คำว่าพลศึกษาเป็นสาระการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยม ดังประโยคและวลีต่อไปนี้
พลศึกษา เป็น ศาสตร์ และ ศิลป์ ที่ผสมผสานความรู้ทางโลก และ ความรู้ทางธรรม ในเรื่อง
๑ การใช้ เรี่ยวแรง อย่างชาญฉลาด เป็นศาสตร์ของความรู้ทางโลก
๒ การใช้ การเคลื่อนไหว อย่างหลักแหลม เป็นศาสตร์ของความรู้ทางโลก
๓ การใช้ สมอง อย่างปราดเปรื่อง เป็นศาสตร์ของความรู้ทางโลก
และ ๔ การใช้ จิต อย่างแยบยล เป็นศิลป์ของความรู้ทางธรรม
จึงเห็นได้ว่า พลศึกษาเป็นคำที่ยอดเยี่ยม ในตัวตนของมันเอง เป็นภาษาไทยคำหนึ่ง ที่มีคุณค่าอยู่ในชื่อของคำนี้ ไม่สมควรไปเปรียบเทียบกับคำในวิชาชีพอื่น ซึ่งก็มีคุณค่าเฉกเช่นกัน เป็นคำที่ประกอบด้วยความรู้ทางโลกและความรู้ทางธรรมอยู่ในคำ ส่วนการได้รับการสรรเสริญหรือการได้รับความเสื่อมเสียของคำนี้นั้น มาจากน้ำมือและการกระทำของคนที่นำพลศึกษาไปใช้ ว่าเข้าใจ เข้าถึง และลึกซึ้งกับคำว่า “พลศึกษา” หรือไม่อย่างไร เพราะพลศึกษาเป็นเนื้อหาและกิจกรรมที่เกี่ยวโยงนำมาเกี่ยวข้องกับร่างกายและจิตใจของคน จะเรียกว่าพลศึกษาอยู่ในร่างกายและจิตใจของทุกคน ทุกขณะและทุกเวลา ดังนั้นพลศึกษาจึงเป็นคำที่ยอดเยี่ยมอย่างเยี่ยมยอดจริงๆ
พลศึกษาในเชิงความยิ่งใหญ่
“ยิ่งใหญ่” แปลความตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นคำวิเศษณ์ ว่า มีอำนาจมาก, มีสติปัญญาความสามารถสูง คงไม่เป็นการยกย่อง ยกยอจนเกินเลยว่า พลศึกษานั้นยิ่งใหญ่ เพราะเหตุและปัจจัยหลายอย่างที่ประจักแก่สายตาของผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องและใช้พลศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน ทำให้คนที่ออกกำลังกาย มีสุขภาพ มีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่แข็งแกร่ง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ดั่งแนวทางพุทธศาสนาที่ว่า “การสะสมบุญกุศลหรือการสะสมสิ่งดีดีแก่ชีวิต ย่อมนำความสุขและความเจริญมาให้ผู้นั้นเสมอ” เป็นความจริงที่ปรากฏมาร่วม ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว นี่แหละพลังอันยิ่งใหญ่ของพลศึกษา
จากคำแปลของคำว่า “ยิ่งใหญ่” ทำให้เห็นว่าพลศึกษามี ๒ ส่วนที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ คือ ๑ พลังอำนาจ บ่งบอกทางร่างกาย-จิตใจ ๒ พลังสติปัญญาความสามารถสูง บ่งบอกทางสมอง ดังขอขยายความออกเป็น
๑ ความยิ่งใหญ่และเกรียงไกรของพลศึกษาแห่งพลังอำนาจ ที่บ่งชี้ทางพลังกาย คือ คนใดที่ได้ใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหวที่มีมากมายหลายหลากของพลศึกษาในเชิงร่างกาย ย่อมเกิด
๑.๑ ความแข็งแรง (Strength) เช่น ข้อมือสามารถยกของหนักได้ จากที่ไม่เคยยกได้มาก่อน เป็นต้น
๑.๒ ความเร็ว ( Speed ) เช่น วิ่งได้เร็วและเร่งมากขึ้น อย่างไม่เหนื่อย เป็นต้น
๑.๓ ความอ่อนตัว (Flexibility) เช่น สามารถก้มตัว หยิบของบนพื้นได้อย่างสบาย ไม่ปวดเมื่อย เป็นต้น
๑.๔ ความคล่องแคล่ว ( Agility ) เช่น สามารถโยกลำตัวหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้รวดเร็ว เป็นต้น
๑.๕ ความทนทาน (Endurance) เช่น เดินหรือวิ่งได้นานขึ้น และไม่เมื่อยล้า เป็นต้น
๑.๖ ระบบไหลเวียนโลหิต (Circular –Respiratory Fitness) เช่น มีเหงื่อออกจากร่างกายมากขึ้น ทำให้รู้สึกสดชื่น เป็นต้น
ทำให้นึกถึงกฎข้อหนึ่งที่ว่า law of use and disuse ( กฎแห่งการใช้และไม่ใช้ ) ของนายฌอง แบพติสท์ เดอ ลามาร์ก ชาวฝรั่งเศส ที่วางรากฐานทฤษฎีวิวัฒนาการ คืออวัยวะส่วนใดของร่างกายที่ใช้บ่อย ย่อมมีการพัฒนาเจริญเติบโตอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเสมือนกับทางพลศึกษาคือ กล้ามเนื้อมัดใดของร่างกายที่ใช้บ่อย จะก่อให้เกิดความแข็งแรง ในทำนองตรงกันข้าม กล้ามเนื้อมัดใดที่ร่างกายไม่ได้ใช้ ย่อมอ่อนแอ
หากนำพลังอำนาจมากล่าวถึงในเชิงจิตใจ ดั่ง พละ ๕ เสมือนธรรมอันเป็นกำลัง มีพลังอำนาจเป็นศักยภาพที่สถิตในจิตใจคน ดังนี้
๑ ศรัทธา - ความเชื่อ คือเชื่อว่าจิตของคนมีพลังแฝงทุกขณะ
๒ วิริยะ - ความเพียร คือคนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจฝึกฝน ฝึกซ้อม ให้สำเร็จได้
๓ สติ - ความระลึกได้ คือการรู้ตัวทุกขณะ ว่ากำลังเคลื่อนไหว
๔ สมาธิ - ความตั้งจิตมั่น คือ การนำจิตไปจดจ่อกับการเคลื่อนไหวในขณะนั้น
๕ ปัญญา - ความรู้ชัดแจ้ง คือ น้อมนำความคิด วิธีคิดว่าขณะที่เคลื่อนไหว ต้องแก้ปัญหาขณะนั้นและคิดการณ์ล่วงหน้าเสมอ
๒ ความยิ่งใหญ่และเกรียงไกรของพลศึกษาแห่งพลังสติปัญญาความสามารถสูง ที่บ่งชี้ทางพลังสมองของคน ในการศึกษาเล่าเรียนศาสตร์และศิลป์ทางพลศึกษา ที่แตกแขนงออกไปหลายแขนง ดังนี้
๒.๑ วิทยาศาสตร์การกีฬา ( Sport Science ) เป็นการศึกษาและเรียนรู้จากการสังเกต ค้นคว้า ทดลองและวิจัยในเรื่องที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเคลื่อนไหว เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่แข็งแรงและจิตใจที่แข็งแกร่ง
๒.๒ กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา ( Anatomy and Physiology ) เป็นการศึกษาและเรียนรู้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท ของร่างกาย เพื่อให้การเคลื่อนไหวถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ
๒.๓ จิตวิทยาการกีฬา ( Psychology of Sport ) เป็นการศึกษาและเรียนรู้พฤติกรรม อารมณ์ บุคลิกของคน เพื่อทำให้มีสภาวะจิตใจที่เข้มแข็งและมั่นคงในกิจกรรมการเคลื่อนไหว
๒.๔ ชีวกลศาสตร์ ( Biomechanics ) เป็นการศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับแรง ขนาดของวัตถุ ที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การเคลื่อนไหวมีประสิทธิผล
๒.๕ เวชศาสตร์การกีฬา ( Sports medicine ) เป็นการศึกษาและเรียนรู้การป้องกัน รักษา กายภาพบำบัดและวินิจฉัยเรื่องการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหว เพื่อให้ร่างกายและจิตใจคืนสภาพสู่ภาวะปกติ
๒.๖ โภชนศาสตร์การกีฬา ( Nutrition of Sport Science ) เป็นการศึกษาและเรียนรู้เรื่องอาหารที่นำมาใช้กับร่างกาย เพื่อให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหวและมีพลังงานในการทำงานอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง
ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวข้างต้น อาจมีการแตกแขนง เพื่อเพิ่มสาระเนื้อหาให้มากและเจาะลึกในรายละเอียดได้ จะเห็นได้จากการนำเนื้อหาเพียง “กีฬา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งส่วนย่อยของพลศึกษาเท่านั้น แต่สามารถสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับคนที่มีความสามารถในเชิงกีฬา และสร้างชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ความยิ่งใหญ่ของกีฬานั้น คนยังคงมองข้ามข้อตกลง ข้อบังคับ กฎกติกา ที่เป็นความรู้ทางธรรม มุ่งเน้นจริยธรรม จรรยามรรยาท ที่แอบแฝงปลูกฝังคนให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬาควบคู่ไปกับความเก่งกาจทางทักษะกลไก
จึงเห็นว่าความยิ่งใหญ่ของพลศึกษา มีพลานุภาพและเสริมส่งภูมิปัญญาในองค์ความรู้ที่หลากหลายมากมายอย่างไม่จบสิ้น และพลศึกษาเสมือนตัวแม่ในการแตกแขนงความรู้เหล่านี้ เพื่อดำเนินการจัดการเป็นสาขาวิชาหนึ่ง หรืออาจเป็นภาควิชาหนึ่ง หรือคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยก็ได้ ตราบใดองค์ความรู้ที่เรียนรู้เกี่ยวข้องและถ่ายโยงสู่ร่างกายและจิตใจของคน ตราบนั้นพลศึกษายังคงดำรงอยู่ในเลือดเนื้อเชื้อไขและจิตใจของคนไปตลอด
พลศึกษาในเชิงความก้าวไกล
“ก้าวไกล” แปลความได้ว่า การเจริญวัฒนาขึ้นไปตามลำดับ เพราะพลศึกษาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของคน เมื่อวิวัฒนาการความคิดในการสร้างสรรค์ของคนไม่หยุดนิ่ง ศึกษาหาความรู้ ค้นคว้า และวิจัยมาตลอด นำการเคลื่อนไหวของคนมาประยุกต์ ปรับเปลี่ยน ปรับปรุง และส่งเสริมให้เป็นเกม เป็นกีฬา เป็นการออกกำลังกาย ทำให้การก้าวไปของพลศึกษาเป็นไปอย่างมีระบบขั้นตอน และเน้นการแข่งขันเพื่อพัฒนา คิดค้น วิจัย ให้การแข่งขันไปสู่เป้าหมายสูงสุดอย่างไม่สิ้นสุด
การก้าวไกลของพลศึกษา เน้นกิจกรรมทางกีฬา จัดในรูปแบบการเล่นกีฬานานาชนิด การแข่งขันกีฬานานาชาติ เพื่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งในแถบเอเชียจะเห็นขั้นตอนการแข่งขันกีฬาจากประเทศกลุ่มเล็กไปสู่ประเทศกลุ่มใหญ่ อย่างเช่นประเทศในแถบกบลุ่มเอเชีย มีกีฬาซีเกมส์ (Southeast Asian Games หรือ SEA Games) มีประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขยายเป็นกีฬาเอเชียนเกมส์ (Asian Games) หรือเรียกว่า "Asiad" คือกลุ่มประเทศในทวีปเอเชีย จากนั้นสู่ทั่วโลกคือกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games), ชี้ให้เห็นว่ามีการวิวัฒนาการในรูปแบบกีฬาแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ มาหลายครั้งหลายคราอย่างต่อเนื่อง
จากแนวคิดและเป็นความจริงเสมอของพุทธศาสนาที่ว่า “ ไม่มีสิ่งใดในโลกใบนี้ที่ประกอบขึ้นด้วยสิ่งเดียวหรืออยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ต้องประกอบขึ้นจากสิ่งหลายสิ่งมารวมกัน ” ดั่งความจริงที่ใกล้ตัวที่สุดคือร่างกายของคน มีองค์ประกอบมากมายที่ประกอบและรวมตัวกันเป็นร่างกาย และพยายามพัฒนาการไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ เฉกเช่น การจัดการแข่งขันกีฬาในระดับต่างๆ ไม่ว่าระดับประเทศ ระหว่างประเทศ และทุกประเทศทั่วโลก ที่ต้องประกอบด้วย
๑ สถานที่ มีการออกแบบสนามแข่งขัน ใช้วัสดุก่อสร้างที่คงทน เป็นการบูรณาการหลายศาสตร์ เพื่อความเกรียงไกร ความทันสมัย
๒ วัสดุอุปกรณ์กีฬา มีการคิดประดิษฐ์ ออกแบบอุปกรณ์กีฬาให้ทนทาน เบา และลดการทอนกำลังอย่างไม่น่าเชื่อ
๓ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า วงจรทางคอมพิวเตอร์ เพื่อมาควบคุมการทำงานในการจับเวลา การคำนวณหาค่าคะแนน และความสะดวกในการทำงาน
๔ ระบบบริหารงาน มีการวางแผนการดำเนินงานตั้งแต่ก่อนจัดการแข่งขันหลายปี จนกระทั่งถึงวันแข่งขัน และจบการแข่งขัน ซึ่งต้องประสานงานกับฝ่ายต่างๆอย่างมีระบบ
๕ งบประมาณ มีการคิดคำนวณ หารายได้จากส่วนของราชการและเอกชน มาสนับสนุนการจัดการแข่งขัน เพื่อให้เพียงพอ
๖ หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องขอความร่วมมือในการสนับสนุน ส่งเสริมทั้งบุคลากรและสิ่งของ เครื่องใช้
และ ๗ ความร่วมมือของนานาประเทศ ที่ต้องปรึกษาหารือ ให้การจัดการแข่งขันมีความถูกต้องตามกฎระเบียบ และรับรู้ข้อตกลงในเรื่องต่างๆ ที่ต้องมีการพัฒนา ค้นคิด และวิจัย เพื่อให้การจัดการแข่งขันมีคุณภาพและประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ต้องพัฒนาขีดความสามารถของนักกีฬาจากหลักสูตรแขนงต่างๆ ที่ได้จากวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นต้น ควบคู่กันไปกับส่วนต่างๆข้างต้น สู่จุดหมายปลายทางที่วางไว้ ดังปรากฏว่า นักกีฬาสามารถทำลายสถิติในกีฬากรีฑา ว่ายน้ำ หรือมียุทธวิธีการเล่นกีฬาฟุตบอลอย่างมีระบบแบบแผนสูงขึ้น มีพลังในการเสิร์ฟลูกเทนนิสที่รวดเร็วและรุนแรง มีพลังกายและพลังจิตในลีลายิมนาสติกที่ไม่คิดว่าคนจะทำได้เช่นนั้น เป็นต้น ดังนั้น ความก้าวไกลของพลศึกษา จึงไม่หยุดนิ่ง เพราะความก้าวไกลนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นคนที่ต้องการพัฒนาไปสู่จุดสูงสุดของชีวิตอยู่เสมอ
นี่เป็นเพียงผลพลอยได้จากการใช้ “กีฬา” เป็นสื่อสู่สมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ สู่ความสามารถเชิงกลไกของคน และความมีคุณธรรมที่ควรยกย่อง นอกจากนี้ยังมีความก้าวไกลของพลศึกษาที่ให้คุณค่าและความสำคัญตลอดมาจากอดีตสู่ปัจจุบันคือ “ออกกำลังกาย” แล้วแตกแขนงรูปแบบต่างๆให้มีรสนิยมหลากหลายเป็น แอโรบิค, เครื่องมือยกน้ำหนัก จนกลายเป็นธุรกิจทางกีฬาได้อย่างมหาศาล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น